เบื่อไหม? ตั้งใจเก็บเงินแทบตาย แต่พอเช็กยอดทีไร เงินหายวับ! วันนี้มีเทคนิคเด็ด ๆ มาฝาก รับรองว่าช่วยให้เก็บเงินได้ตามเป้า
ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ก่อนอื่นต้องกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการเก็บ และระยะเวลาที่ต้องการบรรลุเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น เก็บเงิน 5,000 ใน 1 เดือน หรือเก็บเงิน 10,000 ใน 1 ปี
เก็บก่อนใช้ แบ่งเงินเก็บทันทีที่ได้รับเงิน โดยแยกบัญชีเงินเก็บออกจากบัญชีที่ไว้ใช้จ่าย อาจเปิดบัญชีสำหรับเก็บเงินโดยเฉพาะ หรือจะแบ่งเป็นสัดส่วน เช่น บัญชีเก็บเงินเกษียณ, บัญชีเก็บเงินซื้อบ้าน หรือบัญชีเก็บเงินไปเที่ยว
แบ่งสัดส่วนเงินเดือน ลองแบ่งเงินเดือนออกเป็นสัดส่วน 50-30-20 คือ ค่าใช้จ่ายประจำวัน-ค่าใช้จ่ายส่วนตัว-เงินออม
จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อแยกหมวดหมู่ค่าใช้จ่าย และทำให้เราสามารถเห็นรายจ่ายที่ชัดเจน สามารถคิดได้ว่าควรลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในจุดไหนได้บ้าง จะทำให้ประหยัดขึ้น ถ้าไม่ถนัดทำรายรับรายจ่าย ก็ลองหาแอพพลิเคชันที่ช่วยบริหารเงินมาใช้ ซึ่งหลายธนาคารมีแอพพลิเคชันตัวช่วยเพียบ

คิดเทคนิคการออมแบบสนุก ๆ เพื่อไม่ให้เครียดหรือกดดันตัวเองมากเกินไป ลองใช้ทริคการเก็บเงินที่มีลูกเล่นต่าง ๆ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้เราหันมาออมเงินมากขึ้น
- เก็บตามวันที่ในปฏิทิน 365 day saving money challenge วันที่ 1 เก็บ 1 บาท วันที่ 2 เก็บ 2 บาท ให้ไล่ไปเรื่อย ๆ
- ตารางออมเงิน กำหนดว่าแต่ละวันควรเก็บเงินเท่าไหร่ ซึ่งตารางนี้เหมาะสำหรับนักเรียนและวัยทำงานสุด ๆ สามารถหาตารางการออมเงินได้บนอินเทอร์เน็ต มีให้เลือกจำนวนเงินหลากหลาย สามารถบันทึกไฟล์รูปภาพลงในโทรศัพท์ได้
- เก็บเฉพาะธนบัตร เช่น เก็บธนบัตร 50 โดยตั้งกฎว่าเมื่อได้รับเงินทอนแล้ว ห้ามใช้ธนบัตร 50 เด็ดขาด ซึ่งวิธีนี้หลายคนเลือกใช้และเห็นผลอย่างไม่คาดคิด
- เก็บเงินใส่กระปุกที่เปิดยาก แก้ปัญหาการหยิบเงินเก็บมาใช้ ลองมองหาภาชนะที่เปิดยาก ๆ หรือกระปุกที่ต้องทุบเท่านั้นเพื่อจะนำเงินออกมาใช้ได้
- เทคนิคออมเงินแบบขั้นบันได เริ่มจากการบอกลาพฤติกรรมขัดขวางการออมเงิน จากนั้นก็ออมเงินก่อนนำมาใช้ ขยายเป้าหมายการออมเพิ่ม ลงทุนเพื่อหารายได้เสริม และหาความรู้ที่จะทำให้รายได้งอกเงย

สร้างนิสัยประหยัด ปรับปรุงพฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อเป็นตัวช่วยในการเก็บเงินมากขึ้น และสร้างนิสัยการออมให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
- การเปรียบเทียบราคาก่อนซื้อ มีแอพพลิเคชันช่วยให้เปรียบเทียบปริมาณและราคาของสินค้า ไม่ว่าจะเป็น “Better Deal!” , “What’s a cheap” ซื้อของเมื่อจำเป็นจริงๆ
- หลีกเลี่ยงการซื้อของตามกระแส ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลยุทธ์ทางการตลาดในปัจจุบันโน้มน้าวใจผู้ซื้อได้ง่ายมาก ซึ่งสิ่งของบางอย่างอาจจะยังไม่จำเป็นต้องใช้
- ไม่ใช้จ่ายเกินงบที่ตั้งไว้
อย่าท้อถ้าเกิดเก็บเงินไม่ตรงเป้าที่ตั้งไว้ ลองปรับแผนการออมให้เหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิต เพื่อให้เป็นเรื่องง่ายมากขึ้น