“โหมโรงเดอะมิวสิคัล” ครบรอบ 10 ปี ‘ศร-ขุนอิน’ กลับมาปะทะเดือด

เวลาผ่านไปแป๊ปเดียว 10 ปีแล้ว สำหรับ “โหมโรง เดอะ มิวสิคัล” โดยบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ละครเวทีที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ “หลวงประดิษฐ์ไพเราะ” (ศร ศิลปบรรเลง) บรมครูดนตรีไทยนักสู้ที่ต่อสู้เพื่อรักษารากเหง้าและจิตวิญญาณของไทยไม่ให้หายไปตามพายุแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสร้างจากภาพยนตร์ชื่อเดียวกันที่ฉายเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยได้มีการจัดการแสดงละครเวทีเรื่องนี้ทั้งหมด 4 ครั้ง พ.ศ.2558 (2 ครั้ง), พ.ศ.2561 และ พ.ศ.2568 ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน
“โหมโรง เดอะ มิวสิคัล” จัดการแสดงครั้งแรกเป็นละครเวทีเบิกโรงให้โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ร่วมผลิตกับโต๊ะกลมโทรทัศน์ ในปี พ.ศ.2558 จำนวน 27 รอบ ได้แก่วันที่ 4, 5, 23–26, 30 เมษายน และ 1–3 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 จำนวน 15 รอบ ก่อนเพิ่มอีก 12 รอบ ในวันที่ 7–17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

นำแสดงโดย อาร์ม-กรกันต์ สุทธิโกเศศ รับบท นายศร, แนน-สาธิดา พรหมพิริยะ รับบท แม่โชติ, เบิ่ง-ทวีศักดิ์ อัครวงษ์ รับบท ขุนอิน, พ่ออี๊ด-สุประวัติ ปัทมสูต รับบท ท่านครู หรือ นายศร ยุคจอมพล ป., แม่อี๊ด-ดวงใจ หทัยกาญจน์ รับบท แม่โชติ (ยุครัชกาลที่ ๘), โย่ง อาร์มแชร์-อนุสรณ์ มณีเทศ รับบท พันโทวีระ, ตั้ว-ประดิษฐ ประสาททอง รับบท ครูสิน, รัก-ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ รับบท ครูเทีย, นาย-มงคล สะอาดบุญญพัฒน์ รับบท ทิว, ปอ-อรรณพ ทองบริสุทธิ์ รับบท เทิด, ชยาพงศ์ สุวรรณน้อย รับบท ประสิทธิ์ และ เอ๋ เชิญยิ้ม รับบท เปี๊ยก กำกับการแสดงโดย ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม เป็นละครเวทีเรื่องแรกที่จัดการแสดงในโรงละคร เคแบงก์สยามพิฆเนศ โดยจัดรอบปฐมฤกษ์วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2558 หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ

การจัดแสดงครั้งที่สอง ใช้ชื่อว่า “โหมโรง เดอะ มิวสิคัล Restage” โดยนักแสดงและทีมงานชุดเดิม ผลิตร่วมกับโต๊ะกลมโทรทัศน์เช่นเดียวกัน แต่มีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียด ได้เพิ่มเพลงแต่งใหม่ให้กับ โย่ง อาร์มแชร์ ผู้รับบทพันโทวีระขับร้อง 1 เพลง รวมถึงพัฒนาการในการเล่นระนาดของ อาร์ม-กรกันต์ ผู้รับบทนายศร และมีการจัดทำบทบรรยายภาษาอังกฤษเพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าใจเนื้อเรื่องได้มากขึ้น จัดแสดงในวันที่ 6–8, 13–15 และ 20–22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ก่อนเพิ่มรอบอีก 2 รอบ ในวันที่ 28-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 รวมเป็น 14 รอบ

ครั้งที่สาม ใช้ชื่อ “โหมโรง เดอะ มิวสิคัล 2561” ผลิตร่วมกับโต๊ะกลมโทรทัศน์อีกครั้ง มีการเปลี่ยนตัวนักแสดงจาก 2 รอบก่อนหน้าบางส่วน ได้แก่ แม่โชติ (ยุครัชกาลที่ ๘) แสดงโดย สุดา ชื่นบาน และ เทิด แสดงโดย ปิติพงษ์ ผาสุขยืด แสดงในวันที่ 5 พฤษภาคม–3 มิถุนายน พ.ศ. 2561 จำนวน 10 รอบ ก่อนเพิ่มรอบอีก 1 รอบ ในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561 รวมเป็น 11 รอบ

และการจัดแสดงล่าสุดครั้งที่สี่ “โหมโรง เดอะ มิวสิคัล 2568” เป็นการจัดแสดงในโอกาสครบรอบ 10 ปีแห่งการก่อตั้งโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ และโอกสครบรอบ 10 ปีของละครเวทีเรื่องนี้ ซึ่งยังคงตัวนักแสดงหลักอย่าง กรกันต์ สุทธิโกเศศ, สาธิดา พรหมพิริยะ, ทวีศักดิ์ อัครวงษ์ และ ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ ในบท นายศร, แม่โชติ, ขุนอิน และ ครูเทียน

และได้มีการเปลี่ยนตัวนักแสดงจาก 3 รอบก่อนหน้า ได้แก่ ตู่-นพพล โกมารชุน รับบท ท่านครู (นายศร ยุคจอมพล ป.), จ๋าย ไททศมิตร-อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี รับบท พันโทวีระ, ใหม่-นัฏฐา ลอยด์ รับบท แม่โชติ (ยุครัชกาลที่ ๘), บอม-สุทธิศักดิ์ สินเจริญ รับบท ครูสิน, เบิร์ธ-ณัฐชัย สิรินันทโชติ รับบท ทิว, แบงค์-เฉลิมรัฐ จุลโลบล รับบท เทิด และ นาย-มงคล สะอาดบุญญพัฒน์ รับบท เปี๊ยก

ซึ่งความพิเศษในรอบนี้ นอกจากจะได้เห็นฝีมือการสะบัดระนาดของ อาร์ม กรกันต์ ผู้รับบท นายศร วัยหนุ่ม ปะทะเดือด ครูเบิ่ง ทวีศักดิ์ ผู้รับบท ขุนอิน มือระนาดเอกที่ดีที่สุดคนหนึ่งของไทย ที่ร้องและเล่นกันแบบสดๆ ทั้งดุดัน เร้าใจ และพริ้วไหว ยังได้เห็นการแสดงอันทรงพลังของศิลปินแห่งชาติ อาตู่ นพพล สวมบท ท่านครู หรือนายศร ยุคจอมพล ป. เป็นละครเวทีเรื่องแรกในชีวิตอีกด้วย และยังได้ประชันกับ จ๋าย ไททศมิตร ผู้รับบท พันโทวีระ ตัวละครที่ยึดมั่นอุดมการณ์แรงกล้า เบื้องต้นมีกำหนดจัดการแสดง 10 รอบ ระหว่างวันที่ 4-18 พฤษภาคม 2568 ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน 

สำหรับ “โหมโรง เดอะมิวสิคัล” เล่าเรื่องราวผ่าน 2 ยุคสมัย คือ ยุคนายศร (ยุครัชกาลที่ 5) และยุคท่านครู (ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม) เรื่องราวจะตัดสลับกันไปมา

ในยุครัชกาลที่ 5 – เล่าเส้นทางของนักระนาดเอก “นายศร” ตั้งแต่เด็กจนเป็นหนุ่ม เติบโตมาจากครอบครัวนักดนตรี รักในเสียงดนตรีและมีพรสวรรค์ด้านนี้ตั้งแต่ยังเล็ก ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เพื่อจะได้เรียนดนตรีสมดังตั้งใจ มีช่วงวัยที่คึกคะนอง คิดว่าต้องเป็นที่หนึ่ง ต้องแข่งขัน ต้องเอาชนะ หลงตัวเองว่าเก่งกล้าสามารถเหนือใคร จนได้มาเจอ “ขุนอิน” และพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก ความพ่ายแพ้ เป็นบทเรียนที่ทำให้ศรได้คิด ทบทวนตัวเอง และสามารถค้นพบแนวทางระนาดของตัวเอง “ระนาดสะบัดไหว” ได้เข้ามาเป็นนักระนาดของสมเด็จฯ ประชันระนาดกับขุนอินอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ ศรได้เข้าใจแล้วว่า ไม่ใช่การประชันเพื่อทำลาย หรือเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง หากแต่เป็นการประชัน เพื่อทำลายความกลัว กรอบกำแพงในจิตใจที่สร้างขึ้น และชนะใจตนเอง

 ..เอาชนะคนอื่นได้ ก็ย่อมมีวันพ่ายแพ้คนอื่นได้ แต่ถ้าชนะใจตัวเองได้นั้น เราจะไม่แพ้ใครอีกเลย…

ในยุคจอมพล ป. – เล่าภาวะการต่อสู้ของดนตรีไทย ท่ามกลางสงคราม และกฎข้อห้ามเล่นดนตรีไทย กฎที่ออกโดยคนที่ไม่เข้าใจดนตรี “ท่านครู” (ศร) และลูกศิษย์ลูกหา บรรดานักดนตรีไทย ต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงประเทศ ตามนโยบายของท่านผู้นำ เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากสงคราม จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนประเทศให้ศิวิไลซ์ มีอารยะ อาทิ ห้ามกินหมาก ต้องสวมหมวก กล่าวคำว่าสวัสดี ห้ามเล่นดนตรีไทยบางชนิด จะเล่นดนตรีได้ต้องมีบัตรนักดนตรี ห้ามนั่งเล่นกับพื้นหรือเล่นดนตรีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลป์ เป็นต้น

กฎที่ออกโดยคนที่ไม่เข้าใจดนตรีเหล่านี้ ทำให้นักดนตรีไทยเดือดร้อน ไม่มีงานจ้าง ไม่มีเงิน และต้องแยกย้ายกันไปทำอาชีพอื่น เลวร้ายที่สุดถึงกับฆ่าตัวตาย ถือเป็นช่วงสมัยที่ต้องต่อสู้กันระหว่าง “สิ่งเก่า” กับ “สิ่งใหม่” ซึ่งท่านครูก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เราสามารถพัฒนาได้โดยไม่ต้องทำลายราก หรือสิ่งดีงามที่มีอยู่แต่เดิม

ดนตรีไทย คือเอกลักษณ์ คือรากเหง้าที่งดงามของความเป็นไทย สงครามอาจทำให้บ้านเมืองชำรุดเสียหาย แต่คนที่ไม่รู้ค่าของความเป็นไทย จะทำลายคนไทยด้วยกันเอง

…ชาติจะพัฒนาไปสู่อารยะได้อย่างไร หากเอกลักษณ์ รากความเป็นไทย ถูกทำลายหมดสิ้น…

Related posts

Leave the first comment