เคยมั้ย รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ทำอะไรก็ไม่กระฉับกระเฉง ดูไม่ค่อยมีชีวิตชีวา หมดพลังง่าย สาเหตุของอาการเหล่านี้ อาจมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมน พาเช็ก 5 พฤติกรรมที่ทำให้คุณรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าตลอดเวลา พร้อมวิธีแก้ไข ดูแลตนเอง เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดี
1.พักผ่อนไม่เพียงพอ
ในขณะที่นอนหลับร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต เซลล์จะได้รับการซ่อมแซมฟื้นฟู ดังนั้นการนอนดึก อาจทำให้ร่างกายอ่อนล้า รู้สึกเหนื่อยง่าย ยิ่งถ้านอนไม่เพียงพอเป็นประจำ ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาเหนื่อยล้าสะสม
แนวทางแก้ไข คือ ปรับพฤติกรรมการนอน ควรนอนให้เป็นเวลา อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง ตามความเหมาะสมของอายุ ทั้งนี้ หากใครกำลังเผชิญกับปัญหานอนไม่หลับ ควรพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษา

2.มีความเครียดสะสมเรื้อรัง
ปัญหาความเครียดสะสม เป็นภาวะที่สร้างความกังวลและรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจส่งผลต่อโครงสร้าง และการทํางานของสมองได้ ทําให้ร่างกายเกิดการอักเสบและรู้สึกเหนื่อยล้า ในบางรายที่มีอาการเครียดสะสมมากๆ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานและคนรอบข้างได้
แนวทางการแก้ไข คือ เรียนรู้การรับมือ และจัดการกับความเครียด ปรับแนวคิด ควรหลีกเลี่ยงการเก็บความรู้สึกและความวิตกกังวลไว้คนเดียว หากิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ แช่น้ำอุ่น ฯลฯ หรืออาจปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อหาวิธีรับมือกับความเครียดอย่างเหมาะสม

3.ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อร่างกาย
การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และไม่มีคุณค่าทางสารอาหาร อาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอ และทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าได้
แนวทางแก้ไข คือ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานและทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันได้อย่างกระฉับกระเฉง

4.รับประทานของหวาน น้ำตาล กาแฟ มากเกินไป
การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป เช่น กาแฟ ชา หรือน้ำอัดลม อาจเป็นสาเหตุให้มีอาการนอนไม่หลับในตอนกลางคืน และรู้สึกเหนื่อยล้า
แนวทางการแก้ไข คือ ควรจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในระหว่างวัน และไม่ควรดื่มในตอนเย็น เพราะจะยิ่งทำให้นอนไม่หลับ

5.รับประทานยาบางชนิดที่ส่งผลให้รู้สึกง่วงซึม
ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงเป็นอาการเหนื่อยง่าย เช่น ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้แพ้ ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน และยาระงับอาการปวด
แนวทางแก้ไข อาจปรึกษาแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับตัวยาให้เหมาะสม และออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายกระฉับกระเฉง

เพียงเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ ก็จะช่วยให้คุณกลับมาสดใส ร่างกายกระฉับกระเฉง ไม่อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่ายอีกต่อไป